หากจะพูดถึงพันธุกรรมใน Ball Python แล้ว คงหนีไม่พ้นคำถามที่สุดแสนจะเรียบง่ายที่ว่า “ถ้าเอาพ่องู morph...... ผสมกับแม่งู morph......แล้วลูกงูจะได้ morph อะไรบ้าง??” ส่วนคำตอบนั้นกลับซับซ้อนกว่าคำถามมากนักหากขาดความเข้าใจในพื้นฐานของหลักพันธุกรรม เพราะฉะนั้นเรามาทำความรู้จักกับคำศัพท์พื้นฐานในเรื่องพันธุกรรมกันสักหน่อย เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจดีกว่าครับ
1. Morph
คือลวดลายหรือสีสันที่ผิดแปลกไปจากงูตามธรรมชาติ รวมไปถึง Designer Morph ซึ่งเป็นการรวมกันของงูมากกว่า 1 Morph ซึ่งจะทำให้งูมีลวดลายและสีสันที่พิเศษขึ้นไปอีก
2. Homozygous
คือการจับคู่กันของยีนส์ที่ควบคุม Morph ต่างๆ อย่างที่เรารู้กันว่ายีนส์จะต้องจับกันเป็นคู่โดยต้องมาจากพ่อ 1 ตัวและแม่ 1 ตัว ไม่สามารถอยู่เพียงตัวเดียวได้ เพราะฉะนั้นหากยีนส์ตัวเดียวกันหรือยีนส์ในคู่เดียวกันมาจับคู่กันก็จะเกิดเป็น Homozygous
3. Heterozygous
คือการที่ได้รับยีนส์ควบคุม Morph ต่างๆ เพียงตัวเดียวไม่ว่าจากพ่อหรือแม่ก็ได้ ส่วนยีนส์ที่มาจับคู่ด้วยนั้นเป็นยีนส์ปกติที่ไม่มีความพิเศษหรือที่เราเรียกว่ายีนส์ Normal หากการจับคู่ของยีนส์ได้รับยีนส์ควบคุม Morph เพียงตัวเดียว ในลักษณะนี้ก็จะเป็นเพียง Heterozygous หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า Het นั่นเองครับ
สำหรับการศึกษาเรื่องพันธุกรรม ก่อนอื่นเราจะต้องรู้และสามารถแบ่ง Genetics ใน Ball Python ให้ได้ซะก่อนว่า morph ไหนจัดอยู่ในพันธุกรรมแบบใด ในหน้า Genetics นี้ เราจะอธิบายวิธีการหาคำตอบด้วยภาพ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจมากที่สุด (คลิ๊กที่ภาพ)
เมื่อเราเข้าใจหลักพันธุกรรมขั้นพื้นฐานดีแล้ว ต่อไปก็จะเข้าสู่การคำนวณหาความน่าจะเป็นใน Morph ของลูกงูที่จะเกิดมาจากการเอาพ่อแม่ที่เป็น morph ผสมกัน
เริ่มจากแบบง่ายที่สุดก่อน Bumble Bee x Normal ก่อนอื่นเราต้องแยกยีนส์ของพ่อและแม่งูที่เราเข้าคู่กันเอาไว้ออกมาก่อน อย่างในกรณีนี้
พ่อ : Bumble Bee (งูที่เกิดจากยีนส์ pastel+spider) สามารถแยกยีนส์ออกมาได้เป็น Pastel และ Spider
แม่ : Normal เนื่องจากไม่มียีนส์ควบคุม Morph จึงไม่สามารถแยกได้
เมื่อแยกได้แล้วเราก็ลองเอายีนส์แต่ละตัวของพ่อและแม่มาถ่ายทอดให้ลูกงูของเรากัน เริ่มจากที่ตัวพ่อ ยีนส์ Pastel นั้นจะมีโอกาสถ่ายทอดไปสู่ไข่ทุกฟองในอัตรา 50%ในแต่ละฟอง เช่นเดียวกับยีนส์ Spider ที่มีโอกาสถ่ายทอดไปให้ไข่แต่ละฟองในอัตรา 50% เช่นกัน จากนั้นก็มาดูฝั่งแม่งูกันบ้าง เนื่องจากแม่งูเป็น Normal ซึ่งไม่มียีนส์ควบคุม Morph จึงไม่ต้องนำมาคิดให้ยุ่งยาก
เมื่อเราลองเอายีนส์มาจับคู่กันแล้วก็จะได้ผลดังนี้
1/4 Normal
1/4 Pastel
1/4 Spider
1/4 Bumble Bee (Pastel Spider)
จะเห็นได้ว่าเรามีโอกาสได้แต่ละ Morph เท่ากันที่ 1/4 หรือ 25% ซึ่งในความเป็นจริง หากโชคดีมากก็อาจจะได้ Bumble Bee ทุกตัวหรือหากโชคร้ายก็อาจจะได้ Normal ทุกตัวได้เช่นกัน
ลองเพิ่มความยากขึ้นมาอีกนิดด้วยการใช้พ่อตัวเดิมอย่าง Bumble Bee แต่เปลี่ยนแม่เป็น Pastel ดูกันครับ
พ่อ : Bumble Bee แยกยีนส์ออกมาได้เป็น Pastel, Spider แม่ : Pastel แยกยีนส์อกมาได้เป็น Pastel
เมื่อแยกได้แล้วเราก็ลองเอายีนส์แต่ละตัวของพ่อและแม่มาถ่ายทอดให้ลูกงูของเรากัน เริ่มจากตัวพ่อยีนส์ Pastel จะมีโอกาสถ่ายทอดไปสู่ไข่ทุกฟองในอัตรา 50%ในแต่ละฟอง เช่นเดียวกับยีนส์ Spider ที่มีโอกาสถ่ายทอดไปให้ไข่แต่ละฟองในอัตรา 50% เช่นกัน
มาที่ตัวแม่กันบ้าง ยีนส์ Pastel มีโอกาสถ่ายทอดไปให้ไข่ทุกฟองในอัตรา 50% ในแต่ละฟอง และหากไข่ฟองไหนที่ได้รับยีนส์ Pastel ทั้งจากพ่อและแม่ก็จะเกิดเป็น Homozygous ของ Pastel ซึ่งก็คือ Super Pastel นั่นเอง
เมื่อเราลองจับคู่ดูแล้วก็จะได้ผลตามนี้ครับ
ในกรณีที่ไม่ได้ยีนส์ Pastel จากแม่
1/8 Normal
1/8 Pastel
1/8 Spider
1/8 Bumble Bee (Pastel Spider)
ในกรณีที่ได้ยี นส์ Pastel จากแม่
1/8 Pastel
1/8 Super Pastel
1/8 Bumble Bee (Pastel Spider)
1/8 Killer Bee (Super Pastel Spider)
เมื่อเราเอาทั้ง 2 กรณีมารวมกันก็จะได้
1/8 Normal
2/8 Pastel
1/8 Spider
2/8 Bumble Bee
1/8 Super Pastel
1/8 Killer Bee
จะเห็นได้ว่าโอกาสที่จะได้ Pastel และ Bumble Bee นั้นมีมากกว่า Morph อื่น เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกหากลูกงูในคอกนี้จะออกมาเป็น Bumble Bee หรือ Pastel มากกว่า Morph อื่นครับ