Care
Habitat (ถิ่นกำเนิด)

Python Regius หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Ball Python มีถิ่นกำเนิดจากทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นงูหลามที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก เป็นงูที่ไม่ดุร้าย ไม่มีพิษ และมักจะขดตัวเหมือนลูกบอลเมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัยซึ่งเป็นสัญชาตญาณการป้องกันตัวเองของงูชนิดนี้ ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของชื่อ Ball Python

โดยทั่วไป Ball Python จะออกหากินในเวลากลางคืน โดยอาหารหลักของงูชนิดนี้คือสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู หรือ กระต่าย ส่วนในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวอยู่ในถ้ำหรือโพรงที่สัตว์อื่นขุดทิ้งไว้

Size (ขนาด)

งู Ball Python ในธรรมชาติโดยส่วนใหญ่มีความยาวเพียง 1.50 เมตรและหนักประมาณ 3 กิโลกรัมในเพศเมียเมื่อโตเต็มที่ ส่วนตัวผู้จะมีขนาดที่เล็กกว่าเพศเมีย โดยส่วนมากเพศเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุ 3 ปีขึ้นไป ส่วนเพศผู้จะสามารถเริ่มผสมพันธ์เมื่อมีอายุย่างเข้าขวบปีที่ 2

ส่วนขนาดของตู้เลี้ยงนั้นควรเลือกใช้ขนาดตู้ที่เหมาะสมกับขนาดของงู ไม่ควรเล็กหรือใหญ่จนเกินไป โดยเราสามารถกะขนาดของตู้เลี้ยงได้จากความยาวของงู ตู้เลี้ยงที่เหมาะสมควรมีขนาดความกว้างและยาวทั้ง 4 ด้านรวมกันเป็น 2-3 เท่าของความยาวงู เพราะหากตู้เลี้ยงมีขนาดเล็กเกินไปอาจทำให้งูเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เฉกเช่นเดียวกับขนาดตู้ที่ใหญ่เกินไป อาจทำให้งูรู้สึกไม่ปลอดภัยและเข้าสู่สภาวะตึงเครียดได้เช่นกัน ซึ่งส่งผลเสียโดยตรงกับสุขภาพของงู

Substrate (วัสดุรองพื้น)
ผู้เลี้ยงสามารถหาวัสดุรองพื้นใกล้ตัวได้ง่ายๆ เช่นกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า หรือเศษกระดาษเหลือใช้ที่มีคุณสมบัติซับน้ำได้ค่อนข้างดีและให้มีขนาดเหมาะสมกับกล่องหรือตู้ที่ใช้เลี้ยง แต่หากผู้เลี้ยงท่านไหนต้องการเพิ่มสีสันในการเลี้ยง ก็สามารถเลือกวัสดุที่ดูเป็นธรรมชาติเช่นขุยมะพร้าว ซังข้าวโพด หรือเปลือกไม้แห้งซึ่งมีขายตามร้ายขายอุปกรณ์สัตว์เลื้อยคลานทั่วไปได้เช่นกัน
Hide Box (ถ้ำ)
ที่ซ่อนตัวสำหรับงู เป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างจำเป็นโดยเฉพาะสำหรับงูที่ถูกเคลื่อนย้ายสถานที่เลี้ยง เพื่อให้งูรู้สึกปลอดภัยและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้เร็วขึ้น ส่วนวัสดุที่เหมาะสมนั้นอาจเป็นแค่กล่องกระดาษเจาะรู หรือกระถางต้นไม้แตกก็ได้ ส่วนท่านใดที่ต้องการความเป็นระเบียบสวยงามหรือดูเป็นธรรมชาติก็อาจเลือกซื้อถ้ำจำลองตามร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลื้อยคลานได้เช่นกัน
Water Bowl (ถ้วยน้ำ)
วัสดุใส่น้ำสำหรับงู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับงู โดยน้ำในถ้วยนี้จะมีไว้สำหรับให้งูได้ดื่มและช่วยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในสถานที่เลี้ยง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวิธีการดำรงชีวิตของงูเป็นอย่างมาก เพื่อความสะอาดและสุขอนามัยที่ดีของตัวงู ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนน้ำทุกๆ 2-3 วัน หรือเมื่อเห็นว่ามีสิ่งสกปรกปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ภาชนะใส่น้ำควรมีขนาดพอที่จะให้งูสามารถลงไปแช่น้ำได้ทั้งตัว โดยการใส่น้ำนั้น ควรใส่เพียง1ใน3 ของความจุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำล้นออกมานอกภาชนะ ซึ่งจะทำให้วัสดุรองพื้น เจิ่งนองไปด้วยน้ำ ซึ่งมีผลต่อความชื้นสัมพัทธ์และทำให้งูรู้สึกไม่สบายตัวได้
Feeding (อาหาร)
โดยทั่วไปอาหารหลักของงูชนิดนี้คือสัตว์ฟันแทะแทบทุกชนิด แต่เพื่อความสะดวกและสุขอนามัยที่ดีของงู เราจึงให้เฉพาะหนูเป็นอาหารหลัก หนูที่นำมาเป็นอาหารงูนั้นควรจะเป็นหนูที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเท่านั้น บางท่านอาจสงสัยว่าแล้วเราจะจับหนูที่วิ่งอยู่ตามบ้านมาให้งูกินไม่ได้หรือ? ตามทฤษฎีแล้วได้ครับ เพราะงูกินหนูทุกชนิดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เพื่อความปลอดภัยต่อตัวงูแล้ว การให้กินหนูบ้านเป็นการกระทำที่มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากหนูบ้านหรือหนูท่อนั้นมีนิสัยดุร้ายและเต็มไปด้วยเชื้อโรค ซึ่งอาจทำร้ายหรือนำเชื้อโรคต่างๆมาสู่งูและสามารถคร่าชีวิตงูของเราได้ ทางเราจึงขอแนะนำแกมบังคับว่า"ห้ามงูกินหนูบ้านโดยเด็ดขาด!" หนูที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงนั้นสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายสัตว์เลื้อยคลาน และมีสารอาหารที่ครบถ้วนสำหรับงู โดยที่หนูตามท้องตลาดนั้นก็จะมีทั้งรูปแบบของหนูเป็นและหนูแช่แข็ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เลี้ยงแต่ละท่านว่าจะเลือกใช้หนูในรูปแบบใด สำหรับวิธีการให้อาหารงูนั้น ถ้าให้หนูที่ยังมีชีวิตเป็นอาหาร อันดับแรกที่ควรต้องระวังก็คือตัวของผู้เลี้ยงเอง พึงระลึกไว้เสมอว่าทุกครั้งที่จับหนูควรใช้ที่คีบ คีบที่หางหนู ห้ามใช้มือเปล่าสัมผัสตัวหนูโดยตรงเป็นอันขาด เพราะจะทำให้กลิ่นหนูติดอยู่ที่มือของเรา ซึ่งจะทำให้งูเกิดสับสนและพลาดฉกทำร้ายเราได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะแนะนำก็คือ ถ้างูไม่อยากอาหาร ไม่แนะนำให้ทิ้งหนูเอาไว้กับงูนานเกินไป เพราะหนูสามารถที่จะกัดและสร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้กับงูได้ไม่ยาก และอาจถึงขั้นคร่าชีวิตงูได้ในเวลาต่อมา ส่วนสำหรับท่านที่เลือกใช้หนูแช่แข็ง ก่อนอื่นต้องนำหนูออกมาละลายเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแช่น้ำอุ่นหรือการวางทิ้งไว้ให้ค่อยๆละลายเอง สำหรับข้อแรกควรแช่หนูทั้งซอง เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนูสัมผัสกับน้ำโดยตรง ซึ่งจะทำให้ตัวหนูเละได้ ส่วนสำหรับข้อหลังอาจต้องใช้เวลานาน 2-3 ชม กว่าหนูจะละลายจนหมด ซึ่งอาจไม่เหมาะสำหรับท่านที่ไม่ค่อยมีเวลา เมื่อหนูละลายเรียบร้อยแล้ว อาจใช้ไดร์เป่าผมเป่าที่ตัวหนูสัก10วินาที ให้ตัวหนูเกิดความร้อน เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วงูอาศัยความร้อนในการบอกพิกัดของเหยื่อ การเพิ่มความร้อนให้เหยื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นจึงเป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นให้งูสนใจเหยื่อและยอมรับหนูที่ตายแล้วได้ไม่ยาก สุดท้ายให้ใช้ที่คีบคีบที่ตัวหนู ค่อนไปทางหัวหรือบริเวณรักแร้ทั้งสองข้าง และหันหัวหนูเข้าหางู เพื่อที่จะช่วยให้งูกินเหยื่อได้ง่ายขึ้น เพราะงูจะเริ่มกลืนเหยื่อจากทางหัวเท่านั้น แค่นี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขบวนการให้อาหารงูของเราแล้วละครับ มีข้อแนะนำอีกอย่างก็คือ หลังจากที่เราให้อาหารงูเสร็จแล้ว ให้เราตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่า หนูที่เราให้งูกินนั้นไม่ได้ถูกทิ้งเอาไว้ เพราะงูบางตัว อาจมีนิสัยฉกรัดเหยื่อแล้วทิ้ง ถ้าพบเหตุการณ์ดังกล่าว ให้เราลองป้อนซ้ำด้วยวิธีข้างต้น แต่ถ้างูยังปฏิเสธเหยื่อก็ให้เก็บหนูทิ้งทันที เพราะถ้าเราเผลอทิ้งหนูเอาไว้เพียงแค่ข้ามคืน เราอาจจะต้องได้พบกับกลิ่นที่ตลบอบอวลจนยากที่จะลืมเลือนเลยทีเดียว
Why Ball Python? (ทำไมต้อง Ball Python)

• มีสีสันลวดลายที่สวยงาม และมีขนาดที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้เลี้ยง

• เป็นงูที่มี Morph (ลวดลาย, สีสัน)มากที่สุดในโลก ด้วยเหตุนี้จึงสามารถใช้จินตนาการของผู้เลี้ยงในการเพาะพันธุ์ เพื่อสร้างสรรค์ลวดลายและสีสันใหม่ๆได้อย่างมากมายในรุ่นลูกหลาน

• มีอุปนิสัยขี้อายและรักสงบ ไม่ดุร้าย ไม่ส่งเสียงรบกวน ไม่มีกลิ่นตัวเนื่องจากไม่มีเหงื่อ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย (ขนาดตู้)

• กินอาหารเพียงสัปดาห์ละครั้งโดยปกติ และอาจไม่กินอาหารเลยในฤดูหนาว

• ในงูที่โตเต็มที่สามารถอดอาหารได้นานกว่าครึ่งปี โดยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพงู โดยในปัจจุบันลูกงูที่เกิดจากการเพาะพันธุ์สามารถกินหนูแช่แข็งได้ จึงประหยัดเวลาและสถานที่ในการเลี้ยงหนูเพื่อเป็นอาหารงู โดยหนูแช่แข็งสามารถเก็บไว้ในตู้แช่แข็งได้นานกว่า 1 ปี